Sunday 31 July 2011

ปลาสวยงาม ก็เครียดเป็น

การเลี้ยงปลาตู้นำมาซึ่งความเพลิด เพลินให้กับผู้เลี้ยง มีรายงานทางการแพทย์ว่าผู้ที่เลี้ยงปลาเป็นสัตว์เลี้ยงมักจะมีสุขภาพจิตที่ ดี ไม่ค่อยประสบปัญหาของความดันโลหิตสูงหรือเกิดอาการเครียด อย่างไรก็ตาม ท่านทราบหรือไม่ว่าผู้เลี้ยงเอง อาจทำให้ปลาอยู่ในภาวะเครียดได้โดยไม่รู้ตัว

สาเหตุของความเครียดที่เกิดขึ้นกับปลาเหล่านี้ถูกแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
ความเครียดจากสิ่งแวดล้อม
ปลา เป็นสัตว์เลือดเย็น ดังนั้นอุณหภูมิของร่างกายจะขึ้นกับอุณหภูมิน้ำ ในกรณีที่เลี้ยงปลาในบ่อนอกบ้านหรือกลางแจ้ง ควรจัดบ่อเลี้ยงให้มีร่มเงาบางส่วนหรือมีต้นไม้น้ำเพื่อให้ปลาได้หลบแดดบ้าง หรือติดตั้งเครื่องควบคุมอุณหภูมิน้ำอัตโนมัติหรือ heater ซึ่งมีขายตามร้านขายอุปกรณ์ปลาตู้ นอกจากนั้นคุณภาพของน้ำก็มีความสำคัญเช่นกัน ถ้าท่านใช้น้ำประปาเลี้ยงปลา ควรรองน้ำด้วยภาชนะเปิดแล้วทิ้งไว้ข้ามคืนก่อนใช้และที่สำคัญเช่นกันคือ อุณหภูมิของน้ำที่เปลี่ยนเข้าใส่ตู้ปลาควรใกล้เคียงกับอุณหภูมิของน้ำเดิม

ปลาสวยงาม
สำหรับท่านที่เริ่มเลี้ยงปลาและใช้อุปกรณ์ที่ซื้อมาใหม่ทั้งหมด เมื่อใส่ปลาลงไปเลี้ยงตู้เพียง 1-2 วัน พบว่าน้ำขุ่น และเมื่อเปลี่ยนน้ำใหม่หลังจากนั้นไม่กี่วันก็ยังขุ่นอีก ปลาเริ่มทยอยป่วยหรือตาย เชื่อว่าปัญหานี้เกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมของตู้ปลาที่ยังไม่ได้ปรับเข้าสู่ ภาวะสมดุล เมื่อวัดระดับแอมโมเนียหรือไนไตรท์ จะพบว่ามีระดับที่สูงกว่าปกติ การแก้ไขทำได้โดยเปลี่ยนถ่ายน้ำออกบางส่วน (50-75%) กำจัดอาหารที่ปลากินใม่หมดหรือให้อาหารลดลง ซึ่งในช่วงนี้ปลามักอยู่ในสภาวะเครียดและไม่ค่อยกินอาหาร

ความเครียดจากการปฏิสัมพันธ์ของปลาด้วยกันเอง
ความเครียดประเภทนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและช่วงของการสืบพันธุ์ดังจะเห็น ตัวอย่างจากปลาหมอสี เมื่อยังอายุน้อย เราสามารถเลี้ยงรวมกันได้ แต่เมื่อโตขึ้นมักะจะมีพฤติกรรมก้าวร้าว มีการกัดกัน ก่อให้เกิดบาดแผลซึ่งต่อมามักจะกลายเป็นแผลติดเชื้อ ส่งผลให้ปลาอ่อนแอและกินอาหารได้น้อยลง โตช้า ซึ่งเป็นพฤติกรรมปกติของการแบ่งชนชั้นของปลาเหล่านี้ ดังนั้นท่านควรศึกษาข้อมูลเฉพาะของปลาที่เลี้ยงเพื่อนำมาปรับปรุงการเลี้ยง ให้เหมาะสม



ความเครียดจากการเลี้ยง
ผู้เลี้ยงอาจทำให้ปลาอยู่ในภาวะเครียดได้โดยไม่รู้ตัว เช่น ให้อาหารมากเกินไปทำให้อาหารเหลือจนน้ำเน่า แก้ไขโดยการดูดเอาเศษอาหารออก เปลี่ยนน้ำและลดปริมาณอาหาร หากไม่ทราบว่าควรให้อาหารครั้งละเท่าไหร่ให้ท่านทยอยให้อาหารทีละน้อยจนกว่า ปลาจะไม่กินอาหารซึ่งแสดงว่ามันอิ่ม บางครั้งความเครียดอาจเกิดจากการที่เด็ก ๆ ชอบไล่จับปลามาใส่มือเพื่อสัมผัสเล่น นอกจากทำให้ปลาเครียดแล้ว การสัมผัสกับปลา อาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียจากปลาได้ด้วย เพราะแบคทีเรียบางชนิดที่ก่อโรคในปลาสามารถก่อโรคในคนได้ด้วย
การย้ายปลาเป็นสาเหตุให้เกิดความเครียดเช่นกัน การย้ายปลาในระยะใกล้ ๆ ใช้เวลาน้อย ๆ อาจไม่ยุ่งยากแต่ต้องทำด้วยความนุ่มนวล เพื่อไม่ให้ครีบหรือผิวหนังเกิดบาดแผล เมื่อย้ายไปที่ใหม่ควรหาฝาหรือตาข่ายปิดตู้หรือบ่อไว้ เพราะปลาที่เครียดมัดจะกระโดดออกมานอกตู้ ในกรณีที่ต้องขนย้ายปลาเพื่อเดินทางไหล ควรงดให้อาหารปลาก่อนการขนย้ายอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง เพื่อลดการขับของเสียออกจากร่างกาย เนื่องจากของเสียดังกล่าวจะทำให้ระดับแอมโมเนียในน้ำที่เราขนย้ายสูงขึ้นจน เป็นพิษต่อปลาได้ และไม่ควรขนย้ายในวันที่อากาศร้อนจัด

Friday 29 July 2011

เทคนิคการย้อมสี ปลาออสก้าร์

เทคนิคการย้อมสี ปลาออสก้าร์
นักเลี้ยงหรือนักเพาะพันธุ์ปลาออสก้าร์ทุกราย ย่อมต้องการที่จะให้ปลามีสีสวยสดงดงามกันทั้งนั้น เนื่องจากราคาค่อนข้างสูง ซึ่งทำให้นักเพาะพันธุ์คิดค้นหาวิธีการย้อมสีได้สำเร็จ

การย้อมสี หมายถึง การใช้ฮอร์โมนเพศไปเร่งสีปลานั่นเอง โดยส่วนใหญ่ที่ใช้คือฮาโลคริสติก ซึ่งก็คือยาฮอร์โมนนั่นเอง โดยมีขายตามร้านขายยาทั่วไป การใช้ก็นำมาคลุกกับอาหารปลาให้ปลากินและนี่ก็เป็นวิธีการเร่งสีปลาให้มันเกิดขึ้นเร็วเกินกว่าวัยสมควรจะเป็น ซึ่งการย้อมสีนี้แบ่งได้อีกหลายแบบ

สำหรับการย้อมสีปลาออสก้าร์ ก็ทำได้เช่นเดียวกับปลาปอมปาดัวร์คือ การใช้ไข่กุ้งสดล้างให้สะอาดผสมยาคุมกำเนิดสุภาพสตรี โดยการบดยาให้ละเอียดคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วหมักไว้ 1 วัน หรือมากกว่านี้ก็ได้ แล้วนำไปแช่ทิ้งไว้ในตู้เย็น เพื่อเป็นการช่วยให้ตัวยาจำพวกฮอร์โมนและวิตามินซึมผ่านเข้าไปฝังตัวภายในไข่กุ้ง

ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้เน่าเสียจากตัวยา การให้อาหารจำพวกไข่กุ้งหมักนี้ควรให้ต่อเมื่อปลาออสก้าร์เกิดอาการหิวจัด ๆ ประมาณวันละ 1-2 ครั้ง หรือเพิ่มการให้มากขึ้นกว่านี้ก็ได้

ปลาออสการ์
ปัญหาโรคปลาออสก้าร์
ถึงแม้ปลาออสก้าร์เป็นปลาที่มีสีสันสวยงามเพียงใดก็ตาม ย่อมมีโรคเข้ามาแทรกแทรงเช่นกัน ส่วนโรคที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ และมีความสำคัญมากที่สุดก็คือ โรคจุดขาว หรือโรคอี๊ด

วิธีการป้องกันรักษา
1.การให้อาหารในปริมาณที่พอเหมาะ อย่าให้อาหารมากเกินความต้องการ เพราะเศษอาหารที่ปลากินเหลือจะตกค้างอยู่ภายในตู้ ทำให้เกิดการหมักหมม ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคนี้

2.ผู้เพาะพันธุ์ควรมีการถ่ายเทน้ำวันละ 2 เวลา เช้า-เย็น แต่ก็ต้องระมัดระวังอุณหภูมิของน้ำด้วย ถ้าอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันก็อาจทำให้เป็นโรคจุดขาวง่ายขึ้น

3.การใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น คลอแรมเฟนิคอล , เตตร้าซัยคลินควรใส่อาทิตย์ละ 1 ครั้งและผสมเกลือลงไปในน้ำทุกครั้งที่ทำการเปลี่ยนน้ำ โดยใช้ยาปฏิชีวนะประมาณ 3 แคปซูล ใส่กับตู้ปลาขนาด 30ตารางนิ้ว และเติมเกลือป่นหรือเกลือเม็ดประมาณ 1 ต่อ 1,000 ส่วน

Wednesday 27 July 2011

ปลากะพงขาว เลี้ยงง่าย โตเร็ว

ปลากะพงขาวสามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำ จืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม ปลาชนิดนี้เลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในเขตจังหวัดชายทะเลของประเทศไทย เนื่องจากเลี้ยงง่าย โตเร็ว เนื้อมีรสชาติดีและมีราคาดีอีกด้วย ปัจจุบันนี้ประเทศไทยสามารถเพาะพันธุ์ปลากระพงขาวได้เป็นจำนวนมาก ในประเทศไทยพบปลากระพงขาวแพร่กระจายอยู่ตามชายทะเลทั้งในอ่าวไทยและอันดามัน โดยอาศัยชุกชุมตามปากแม่น้ำ ลำคลอง

อย่างไรก็ตาม ปลากระพงขาวสามารถอาศัยและเจริญเติบโตในแหล่งน้ำจืดได้อีกด้วย จึงจัดเป็นปลาประเภทสองน้ำ โดยธรรมชาติของปลากระพงขาวเป็นปลาที่ปราดเปรียว ว่องไว ว่ายน้ำเร็ว สามารถกระโดดพ้นน้ำในระยะสั้นได้สูงขณะที่ตกใจหรือตอนล่าเหยื่อ แต่ตามปกติมันจะอืดอาดเชื่องช้า มีนิสัยชอบซุกซ่อนอยู่ตามซุ้ม ปลากระพงจะเริ่มออกหากินในขณะที่กระแสน้ำอ่อน ปลาขนาดใหญ่มักไม่รวมฝูง นอกจากในฤดูผสมพันธุ์วางไข่จึงจะรวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ

ปลากะพงขาว




ข้อดีของปลากะพงขาว
1. เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว เนื้อมีรสชาติดี มีราคาดีพอสมควร

2. หาพันธุ์ปลาได้ง่าย มีทุกขนาด และหาได้ในปริมาณที่ไม่จำกัด

3. สามารถเลี้ยงได้แพร่หลายทั้งในแหล่งน้ำจืด น้ำกร่อย หรือน้ำเค็ม โดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำที่มีความเค็มแปรเปลี่ยนง่าย

ข้อเสียของปลากะพงขาว
1. ปัญหาเรื่องตลาด เนื่องจากส่งไปขายต่างประเทศได้น้อยมาก

2. ราคาต่ำมากเมื่อเทียบกับปลากะรัง ทำให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงปลากะรังกันมากขึ้น

Sunday 24 July 2011

โรคที่พบในปลาหางนกยูง

โรคที่พบจากการเลี้ยงปลาหางนกยูง อาจเกิดจากสาเหตุหลายประการ ได้แก่ ปรสิต แบคทีเรีย สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น ออกซิเจนในน้ำน้อย อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สาเหตุเหล่านี้ไม่รุนแรงพอที่จะทำให้ปลาตาย แต่ทำให้ปลาเกิดความเครียด มีผลกระทบต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย ทำให้ภูมิต้านทานลดลง โรคที่พบได้แก่
1. โรคจุดขาว (white sp. Disease) เกิดจากสัตว์เซลล์เดียวชื่อ lchthyophthirus multifilis หรือชื่อย่อ lch (อิ๊ค) อิ๊คเข้าเกาะตัวปลาและตัวที่ผนังชั้นนอกของปลาสร้างความระคายเคือง ปลาจะสร้างเซลล์ผิวหนังหุ้มอิ๊ค ทำให้เห็นเป็นจุดสีขาว ยังไม่มีวิธีการกำจัดอิ๊คที่ฝังอยู่ใต้ผิวหนัง แต่วิธีการที่ได้ผลคือการทำลายตัวอ่อนในน้ำสารเคมีที่ใช้ได้ผลดี คือ ฟอร์มาลีน 30-40 ppm. ผสมกับมาลาไค้ทกรีน 0.1 ppm. แช่ติดต่อกัน 3-4 วัน จะให้ผลดีมาก โดยเฉพาะเมื่อน้ำมีอุณหภูมิประมาณ 25-30 C

ปลาหางนกยูง
2. โรคสนิม เกิดจากสัตว์เซลล์เดียว เกาะตามเหงือกและผิวหนัง ถ้าเกาะจำนวนมากจะเห็นเป็นลักษณะคล้ายกำมะหยี่สีเหลืองปนน้ำตาลกระจายเป็นหย่อมๆ การป้องกันและกำจัดควรใช้เกลือแกงเข้มข้น 1% แช่ปลานาน 24 ชั่วโมง ควรทำซ้ำทุก 2 วัน จนกว่าจะหาย

3. โรคที่เกิดจากปลิงใส เกิดจากปรสิตตัวแบน 2 ชนิดคือ Gyrodactylus และ Dactylgyrus มักพบตามบริเวณเหงือกและผิวหนัง การรักษาใช้ฟอร์มาลินเข้มข้น 30-40 ppm. หรือ ดิพเทอร์เร็กเข้มข้น 0.25 - 0.5 ppm. แช่ทิ้งไว้ตลอดไป

4. โรคที่เกิดจากหนอนสมอ หนอนสมอมีลำตัวเป็นรูปทรงกระบอก ส่วนหัวคล้ายสมอซึ่งทำหน้าที่ยึดเกาะกับตัวปลา การรักษาใช้ดิพเทอร์เร็กซ์เข้มข้น 0.25-075 ppm. แช่นาน 24 ชั่วโมง แช่น้ำ 3-4 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 5-6 วัน

5. โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย เกิดจากแบคทีเรียสกุล Aeromonas และ Pseudomonas อาการที่พบก็คือ ท้องบวมน้ำ เกล็ดพอง รักษาโดยใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ออกซิเตตราไซคลิน ผสมลงในน้ำในภาชนะที่เลี้ยงในอัตรา 10-20 ppm. หรือจะใช้เกลือแกง 0.5-1% ก็ได้

การเลี้ยงปลาสวยงาม ปัญหาเรื่องโรคนับเป็นปัญหาที่สำคัญที่ต้องศึกษาให้รู้และเข้าใจได้อย่างถูกต้อง ตามปกติในช่วงชีวิตหนึ่งๆ ของสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นมาบนโลกย่อมหลีกลี้หนีจากโรคภัยไข้เจ็บไม่พ้น การเจ็บป่วยของคนเราเมื่อรู้สึกเจ็บป่วย เราสามารถที่จะปรึกษาแพทย์ให้ช่วยเยียวยารักษาได้ แต่อาการเจ็บป่วยของปลาที่เลี้ยงไว้ในที่กักขังจะทราบได้อย่างไร นับว่าเป็นเรื่องที่ยากมากในการตัดสินใจว่าปลาเป็นโรคหรือยัง หรือถ้าเป็นปลาจะเป็นโรคอะไร แต่ถ้าหากปลาป่วยเป็นโรคที่เกิดขึ้นทางภายนอกแล้ว การสังเกตและเอาใจใส่ของผู้เลี้ยงก็พอที่จะเป็นหลักได้ว่าปลาเป็นโรคแล้วหรือยังไม่เป็น ถ้าผู้เลี้ยงปลาเอาใจใส่สักนิดชีวิตปลาก็จะรอดตาย ตอนต่อไปเราจะได้รู้จักกับสายพันธุ์ต่าง ๆ ของปลาหางนกยูง

Friday 22 July 2011

ปลาหมอสีฟรอนโตซ่า

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cyphotilapia frontosa (Boulenger, 1906)
ชื่อสามัญ Humphead cichlid, frontosa cichlid

ปลาหมอสีฟรอนโตซ่า เป็นปลาหมอสายพันธุ์แท้ที่มีแหล่งกำเนิดมาจากทะเลสาปแทงแกนยีกา ในทวีปแอฟริกา ด้วยความสวยงามของปลาชนิดนี้ ซึ่งมีสีฟ้าอมม่วงที่แปลกตาประกอบกับลายดำคาดตลอดลำตัว และ ครีบต่างๆ ของตัวปลา จึงได้มีการนำปลาชนิดนี้มาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามในปัจจุบัน แต่เนื่องด้วยตลาดของปลาชนิดนี้ที่ค่อนค้างแคบในบ้านเรา และราคาของปลาที่ค่อนค้างสูง ทำให้ยังไม่มีผู้เลี้ยงปลาชนิดนี้มากเท่าที่ควร

ปลาหมอสีฟรอนโตซ่า
ลักษณะทั่วไปของปลาปลาหมอสีฟรอนโตซ่า
ปลาหมอสีฟรอนโตซ่า ปกติเป็นปลาที่พบได้บริเวณที่มีน้ำลึก ตั้งแต่ 5 เมตร โดยที่บริเวณดังกล่าวมีแนวโขด ปลา ชนิดนี้อยู่ร่วมกันเป็นฝูง และปกติพบตัวผู้ที่เป็นหัวหน้าฝูงอยู่กับตัวเมียหลายๆตัว ชื่อของปลาชนิดนี้มาจาก ลักษณะบริเวณหัวที่มีโหนกออกมาโดดเด่น โดยเฉพาะในตัวผู้ ส่วนตัวเมีย มีหัวที่ค่อนข้างมนกลม ปลาชนิดนี้อาศัยอยู่ในบริเวณที่เป็นโขดหิน และพื้นเป็นทราย เป็นปลาชนิดที่อมไข่ ตัวผู้มีขนาดยาวได้ถึง 12 -1 3 นิ้ว ในขณะที่ตัวเมียส่วนใหญ่มีขนาดไม่เกิน 8 - 9 นิ้ว

ปลาหมอฟรอนโตซ่า เป็นปลาที่มีลักษณะเพรียว ครีบยาวมีลักษณะสวยงาม ฟรอน โตซ่า เป็นปลาที่มีการเคลื่อนไหวในลักษณะค่อนข้างช้าไม่รวดเร็วนอกจากเวลาที่ถูก ไล่หรือต้อน กินอาหารจำพวกสัตว์น้ำที่มีเปลือกอ่อนต่างๆ แต่พวกที่มีขนาดใหญ่จำพวกที่กินเนื้อ(Piscivore) โดยมีลักษณะของฟันที่แหลมคมเรียงกันอยู่บริเวณกระพุ้งแก้ม

การเพาะพันธุ์ปลาฟรอนโตซ่า
ปลาฟรอนโตซ่าเป็นปลาที่ผสมพันธุ์ และมีการเลี้ยงตัวอ่อนอยู่ในปาก หรือบริเวณกระพุ้งแก้ม จึงซึ่งเรียกว่า ปลาอมไข่ โดยตัวเมียเป็นผู้ดูแลตัวอ่อน ซึ่งปริมาณของตัวอ่อนที่ได้ประมาณ 10 - 60 ตัว แต่มีบางสายพันธุ์ หรือในบางกรณีที่ปลายังไม่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เต็มที่ อาจทำให้ปริมาณตัวอ่อนที่ได้น้อยลง ตลอดจนสภาพแวดล้อมหรือสถานที่เพาะเลี้ยงก็มีส่วนสำคัญ กับปริมาณของตัวอ่อน โดยเวลาที่ผสมพันธุ์กัน ตัวผู้ส่งสัญญาณให้ตัวเมียตามมันไปในบริเวณถ้ำ หรือโขดหิน ปลาหมอชนิดนี้เป็นปลาที่สืบพันธุ์โดยปลาเพศเมียอมไข่ทันทีหลังจากที่ได้รับ การปฏิสนธิจากปลาตัวผู้ไข่ใช้เวลาฟักเป็นตัวเกือบ 4 - 5 อาทิตย์

Wednesday 20 July 2011

ปลากัดกีตาร์

ปัจจุบันนี้เราอาจเริ่มพบเห็นปลากัดป่าจากแหล่งน้ำธรรมชาติของภาคต่างๆออกมาอวดโฉมตามร้านขายปลาสวยงามกันบ้างแล้ว และในช่วงฤดูฝนนี่จะเป็นช่วงที่พบเห็นปลากัดป่าลูก 100% ได้มากขึ้น เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศฤดูฝน ฤดูของปลากัดป่าลูก 100% ก็จะขอนำเรื่องราวของปลากัดป่าลูก 100% ชนิดหนึ่งมาเล่าฝากกัน นั่นคือ ปลากัดป่าภาคอีสาน ซึ่งจัดป็นปลาที่ตลาดมีความต้องการมากสายพันธุ์หนึ่งโดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ

ปลากัดป่าภาคอีสานนั้น เป็นปลาพื้นเมืองของทางแถบภาคอีสาน สามารถพบได้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง ลักษณะเด่นของปลารวมถึงสีสันก็จะแตกต่างตามแหล่งธรรมชาติที่พบปลากัด รวมถึงสภาพของดิน น้ำ ก็จะมีส่วนประกอบที่สำคัญต่อสีสันและรูปร่างของปลาด้วย แต่โดยทั่วไปแล้ว ลักษณะรูปร่างและสีสันของปลากัดป่าอีสานจะมีลักษณะคล้ายหรือใก้เคียงกัน แต่ขนาดของลำตัวอาจแตกต่างออกไปบ้างตามสภาวะแวดล้อม เช่นที่จะกล่าวถึงคือ ปลากัดป่าอีสาน “ กีตาร์” หรือที่ชาวบ้านเรียก “ปลากัดอิตาร์” จัดเป็นปลากัดป่าอีสานที่โดดเด่นชนิดหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่นิยมนำมาพัฒนาให้เป็นปลากัดป่าที่ใช้กัดพนันเดิมพันกัน บ้างก็นำมาผสมกับปลากัดหม้อเพื่อให้มีความอดทนมากยิ่งขึ้น โดยไม่ได้เน้นถึงความสวยงามของรูปร่างซักเท่าไหร่

ปลากัดกีตาร์
ลักษณะเด่นของปลากัดกีตาร์
ปลากัดกีตาร์ตัวผู้ สีของลำตัวมีสีน้ำตาลอมดำหรือสีน้ำตาลออกซีดๆ แก้มหน้ามีลักษณะเป็นเกล็ดเป็นจุดหรือลวดลายคล้ายงู เกล็ดลำตัวเป็นจุดเม็ดเล็ก สีเขียวหรือเขียวอมดำ ลำตัวยาวบาง ส่วนตะเกียบค่อนข้างยาวมีสีดำอมแดง ปลายตะเกียบเป็นสีขาวหรือแดง และที่โดดเด่นคือ เมื่อปลากางครีบพองตะเกียบจะกระดิกคล้ายกับคนกำลังดีดกีตาร์ ส่วนหางมีสีเขียวแซมแดง และมีลวดลายกระจาย รูปทรงของแผ่นหางนี้ ปลาบางตัวจะมีแผ่นหางกางออกเป็นรูปคล้ายใบโพธิ์ ซึ่งจัดว่าหาได้ยาก และส่วนกระโดงบนและกระโดงล่าง จะมีสีเขียวแซมแดงคล้ายกับลวดลายแผ่นหาง

ปลากัดกีตาร์ตัวเมีย สีสันของลำตัวค่อนข้างซีด หรือออกสีน้ำตาลอ่อน มีขนาดเล็กกว่าตัวผู้ เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ปลาตัวเมียจะมีท้องออกสีเหลืองอ่อนหรือขาว และจะบวมเป่งกว่าปกติ สีสันทั่วไปคล้ายกับปลาตัวผู้แต่ก็ไม่เด่นชัดเท่า

สถานที่พบปลากัดป่ากีตาร์มากที่สุด
พบตามแหล่งน้ำธรรมชาติเฉพาะที่เท่านั้น โดยส่วนใหญ่แล้วจะพบที่ อ. บึงโขลงหลง และ อ. บ้านแพง จ. นครพนม และในบางพื้นที่ของประเทศลาว

Monday 18 July 2011

ปลาซัคเกอร์

ปลาซัคเกอร์ หลายคนคงร้องยี้ ด้วยรูปร่างหน้าตา ที่น่าเกลียด น่ากลัว ปากดูด จุ๊บๆ จ๊วบ ๆ ลำตัวที่เป็นเกราะ สีดำ บางคนเรียก ปลาชนิดนี้ ว่า ปลาตุ๊กแก ปลาซัคเกอร์ ได้ถูกนำเข้ามา ในประเทศไทย เป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว มีถิ่นกำเนิดจาก ลุ่มน้ำต่างๆ ในทวีป อเมริกาใต้ ด้วยคุณลักษณะ ประจำตัว ที่ชอบดูด ตะไคร่ ดูดหาเศษ อาหาร ตามพื้นตู้ เหล่านักเลี้ยงจึง มอบหมาย ให้เป็น พนักงานเทศบาล ประจำตู้ หรือบ่อ ไปโดยปริยาย

ปลาซัคเกอร์ จัดเป็น ปลา Catfish ในครอบครัว Loricariidae ซึ่ง มีจำนวนมากมายหลายชนิด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hypostomus plecostomus แหล่งอาศัยตามธรรมชาติของมันอยู่ตามแม่น้ำลำคลองในทวีปอเมริกาใต้ เป็นปลาขนาดใหญ่ เมื่อโตเต็มที่แล้วอาจมีขนาดได้ถึง 60 เซนติเมตร แต่อยู่ในตู้ปลาแล้วมักไม่โตมาก อาจได้สักฟุตหนึ่งก็เท่มากแล้ว ส่วนใหญ่จะอยู่ราวๆ 10-25 เซนติเมตร

ปลาซัคเกอร์
ลักษณะของปลาซัคเกอร์
คล้ายกับทัพพีด้ามยาวๆ สีดำวางคว่ำเอาไว้กับพื้น ปลาชนิดนี้ไม่มีเกล็ด แต่ผิวหนังของมันพัฒนาขึ้นมาทดแทนจนแข็งยิ่งกว่าเกล็ดปลาโดยทั่วไปเสียอีก แถมยังมีหนามเล็กๆ เป็นการป้องกันภยันตรายจากการถูกสัตว์อื่นจับกินอีกต่างหาก ในวงวิชาการสัตว์น้ำเมืองไทยเรียกปลาซัคเกอร์ว่า "ปลากดเกราะ" ก็เนื่องมาจากจุดเด่นตรงนี้แหละ

ปากของซัคเกอร์ก็มีลักษณะเหมือนชื่อของมัน คือใช้ดูด ภายในปากมีฟันหรือเขี้ยวซี่เล็กๆ เรียงกันเอาไว้ขูดกินเนื้อเยื่อของสัตว์อื่นหรือตะไคร่น้ำให้หลุดออกจากผิวของวัตถุที่มันไปเกาะเพื่อกินเป็นอาหาร ปลาชนิดนี้จึงมีชื่อเสียงเรื่องของการกินตะไคร่ในตู้หรือบ่อปลามากที่สุด มันสามารถอยู่ร่วมกับปลาอื่นๆ ได้โดยไม่ไปกัดทำร้าย แต่ด้วยสาเหตุที่เป็นปลาขนาดใหญ่ หากนำมาเลี้ยงในตู้คับแคบก็จะเป็นปัญหาไม่น้อย ปลาซัคเกอร์จึงเหมาะกับตู้หรือบ่อใหญ่ๆ อย่างบ่อปลาคาร์พ คนที่เลี้ยงตู้เล็กๆ อย่าไปหามาเป็นแม่บ้านเลยครับ เดี๋ยวต้องเดือดร้อนหาที่ปล่อยกันวุ่นวาย



ข้อดี ของปลาซัคเกอร์ ช่วยกินตะไคร่น้ำที่เกาะตามกระจกตู้และบ่อปลา

ข้อเสีย มีขนาดใหญ่ไม่สามารถเลี้ยงในตู้เล็กได้ ที่สำคัญคืออาจดูไม่สวยงามในสายตาคนทั่วไป

Thursday 14 July 2011

ปลาหมอสี ดีมาสัน

ปลาหมอสี ดีมาสัน มีชื่อทางวิทยศาสตร์ว่า Pseudotropheus demasoni เป็นปลาที่ลวดลายสวยงามแถมราคาไม่แพง เป็นปลาหมอจากกลุ่มโลกเก่า มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทะเลสาบมาลาวีในทวีปแอฟริกา

ปลาหมอสี ดีมาสัน จัดได้ว่าเป็นกลุ่ม Mbuna (ปลา ที่หากินตามกองหิน) ขนาดเล็กที่สุด ด้วยลำตัวยาวเต็มที่เพียง 6-8 เซนติเมตรเท่านั้น ความงามของปลาหมอดีมาสันประกอบไปด้วยพื้นลำตัวสีฟ้าสดสว่างตาตัดด้วยลาย น้ำเงินคมเข้มเกือบดำ คาดตามแนวตั้งนับได้ 6 ลาย และที่หัวอีก2-3ลาย สีของครีบหลัง ครีบท้อง ครีบทวาร และบางส่วนของครีบหาง เป็นสีน้ำเงินเข้ม มีคลิบขาวที่ครีบทุกครีบ ยกเว้นครีบว่าย ครีบก้นนั้นมีจุดไข่หลอกสีเหลืองสดประมาณสองจุด

ปลาหมอสี ดีมาลัน
ตามธรรมชาติจะอาศัยอยู่กันเป็นฝูงย่อมๆ จิกกินตะไคร่น้ำที่ขึ้นปกคลุมกองหินน้อยใหญ่ที่มีอยู่อย่างมากมายมหาศาลใน ทะเลสาบมาลาวี ปลาชนิดนี้นิสัยค่อนข้างหวงถิ่น ก้าวร้าว

การเลี้ยงปลาหมอสี ดีมาลัน
ปลาหมอดีมาสันอยู่ในสกุล Pseudotropheus ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความดุร้าย ในการเลี้ยงจึงจำเป็นต้องเลี้ยงให้หนาแน่นซักหน่อย ปลาหมอสี ดีมาสัน สามารถเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นได้ดี ปลาที่เลี้ยงร่วมควรเป็นปลาในทะเลสาบมาลาวีเช่น มบูนาชนิดอื่นๆ ที่ไม่ใหญ่กว่ามากนัก ได้แก่ ปลาหมอกล้วยหอม ปลาหมอฮองกี ปลาหมอเรดท๊อปนดัมบี หรืออาจรวมกับนอนมบูนาที่ไม่ดุร้ายเช่น ปลาหมอบลูดอลฟิน ปลาหมอเยลโล่พีค๊อก



ปลาหมอสี ดีมาลัน
ตู้ที่ใช้เลี้ยงควรมีขนาดอย่างน้อย 36 นิ้วขึ้นไป และควรเลี้ยงอย่างน้อย 15-20 ตัว ถ้าใส่ปลาน้อยตัวโอกาสที่ปลาจะคัดเลือกผู้ที่แข็งแกร่งที่สุดในตู้จะรุนแรง มาก ถ้าตัวไหนไม่ยอมนั่นอาจหมายถึงชีวิต การจัดตู้ก็มีความสำคัญเช่นกัน ควรปูพื้นตู้ด้วยทรายหรือกรวดละเอียด ตกแต่งด้วยก้อนหินน้อยใหญ่วางทับซ้อนกัน เพื่อให้ปลาได้ใช้เป็นเสมือนบ้าน และควรมีบ้านให้ปลาทุกตัวอยู่จะช่วยลดความก้าวร้าวลงได้บ้าง อีก ทั้งยังเป็นที่หลบภัยสำหรับปลาที่อ่อนแอกว่าหรือโดนข่มจากตัวจ่าฝูง การจัดตู้เลียนแบบธรรมชาติจะทำให้ปลาไม่เครียดสามารถแสดงพฤติกรรมตาม ธรรมชาติได้อย่างน่าหลงใหล และจะทำให้ผู้เลี้ยงได้เคลิบเคลิ้มไปกับฝูงผึ้งสีน้ำเงินแห่งทะเลสาบมาลาวี

อาหาร
ส่วนอาหารนั้น ปกติปลาหมอสี ดีมาสันต ามธรรมชาติจะกินตะไคร่น้ำ แต่ในที่เลี้ยงเราสามารถให้อาหารเม็ดที่มีส่วนผสมของพืชในสัดส่วนที่สูง

Tuesday 12 July 2011

สายพันธุ์ปลาแรด

ปลาแรด เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ของไทยชนิดหนึ่ง จำพวกเดียวกับปลากระดี่และปลาสลิด แต่มีขนาดใหญ่กว่ามาก ปลาแรดมีเนื้อมาก แน่น นุ่ม ไม่ค่อยมีก้าง รสชาติดี เป็นที่นิยมของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปลาแรดสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น ย่าง ทอด เจี๋ยน ต้มยำ แกงเผ็ด น้ำยา ฯลฯ หรือนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามก็ได้ ปลาแรดเลี้ยงง่ายเช่นเดียวกับปลาสลิด แต่ราคาค่อนข้างสูง มีความอดทนต่อสภาพแวดล้อมและโรคได้เป็นอย่างดี

ในปัจจุบันมีปลาแรดสายพันธุ์ต่างๆ ให้เลือกซื้อไปเลี้ยง ทุกพันธุ์มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกันหมด แต่ผิดแผกแตกต่างกันไปตามรายละเอียดอื่นๆ เช่น สีสัน และอวัยวะพิเศษบางอย่าง

ปลาแรดดำ
1. ปลาแรดธรรมดา หรือแรดดำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Osphronemus goramy
ก็คือ ปลาแรดธรรมดา หรือที่เรียกกันว่า "แรดดำ" นั่นเอง จัดเป็นแรดพื้นเมืองของไทยชนิดหนึ่ง มีสีไม่สวยนัก แต่ก็เด่นที่ราคาถูก (และเนื้ออร่อย)

ปลาแรดเผือก
2. ปลาแรดเผือก ชื่อวิทยาศาสตร์ Osphronemus goramy Albino, Silvery
จัดออกเป็น 2 สายพันธุ์ คือแรดเผือกตาดำ และแรดเผือกตาแดง ปลาแรดเผือกตาดำนั้นมีสีขาวนวลอมชมพู ไม่มีลายบนลำตัว ลักษณะค่อนข้างเพรียวยาวกว่าแรดเผือกตาแดง ซึ่งเป็นการผ่าเหล่ามาจากปลาแรดดำ โดยยังจะมีลายบนลำตัวให้เห็นจางๆ และมีลำตัวกว้างป้อมกว่า สีสันออกขาวสว่างกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ปลาแรดเขี้ยว
3. ปลาแรดเขี้ยว ชื่อวิทยาศาสตร์ Osphronemus exodon
เป็นปลาแรดที่มีถิ่นอาศัยในแม่น้ำโขง ลักษณะภายนอกคล้ายกับปลาแรดดำทั่วไป แต่มีฟันรูปเขี้ยวที่ริมฝีปากนอก ในขณะที่ปลาแรดชนิดอื่นก็มีฟันในแบบเดียวกัน แต่อาจเล็กกว่าและอยู่เข้าไปด้านในของริมฝีปาก ทำให้มองเห็นไม่ชัดเท่า ปลาแรดเขี้ยวจัดเป็นปลาแรดหายาก ฉะนั้น จึงมีราคาสูงกว่าปลาแรดดำหรือปลาแรดเผือกทั้งที่ตัวมันเองก็ไม่ได้สวยมากไปกว่า

ปลาแรดแดง
4. ปลาแรดแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Osphronemus laticlavius
ปลาแรดแดง มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย เป็นปลาแรดที่มีสีสันสวยงามมาก โดยเฉพาะในปลาตัวผู้ที่โตเต็มวัย สีพื้นลำตัวด้านบนจะเข้มดำ ในขณะที่ทางด้านล่างจะสีอ่อนกว่า ครีบทุกครีบมีสีส้มแดง เช่นเดียวกับข้างแก้มและส่วนหัว บางตัวออกสีแดงจัด ขึ้นอยู่กับสภาพและวิธีการเลี้ยง ปลาแรดแดงเป็นปลาแรดที่มีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาปลาแรดด้วยกัน โตเต็มที่เพียง 50 เซนติเมตร เท่านั้น จัดเป็นปลาแรดที่มีราคาแพงที่สุด

Thursday 7 July 2011

ปลาแรด

ปลาแรด (Giant Gouramy) Osphronemus guramy (Lacepede) เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ของไทยชนิดหนึ่ง ปลาขนาดใหญ่ที่พบมีน้ำหนัก 6-7 กิโลกรัม เป็นปลาจำพวกเดียวกับปลากระดี่และปลาสลิดแต่มีขนาดใหญ่กว่ามากมีเนื้อแน่นนุ่ม เนื้อมากไม่ค่อยมีก้าง รสชาติดี จึงได้รับความนิยมจากประชาชนผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ

แหล่งกำเนิด
ปลาแรดมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า"ปลาเม่น"มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินโดนีเซียแถบหมู่เกาะสุมาตรา ชวา บอร์เนียวและหมู่เกาะอินเดียตะวันออกในประเทศไทยภาคกลาง พบตามแม่น้ำแม่น้ำ ลำคลอง ตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภาคใต้ที่จังหวัดพัทลุงและแม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฏร์ธานี ปัจจุบันปลาแรดที่อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีจำนวนลดน้อยลง เนื่องจากแหล่งน้ำตื้นเขินขาดแหล่งวางไข่และแหล่งเลี้ยงลูกปลาวัยอ่อนที่เหมาะสม

ปลาแรด
อุปนิสัย
ปลาแรดชอบอยู่ในน้ำนิ่งตื้น ๆ ตามแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึงและทะเลสาบเป็นปลาที่ค่อนข้างตื่นตกใจง่ายแต่เชื่องช้า ชอบอยู่ในที่เงียบสงัด มีพันธุ์ไม้น้ำที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ ปลาแรดที่ยังมีขนาดเล็กมักจะทำอันตรายกันเอง เป็นปลาที่ค่อนข้างทรหดอดทน เมื่อจับขึ้นจากน้ำก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้นาน ๆ เพราะมีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจ (accessory respiratory organ) มีลักษณะเป็นเยื่ออ่อน ๆ อยู่ในหัวตอนเหนือเหงือก โดยมีคุณสมบัติเก็บน้ำไว้หล่อเลี้ยงให้ความชุ่มชื้นแก่เหงือกในเวลาที่ปลาขึ้นพ้นน้ำ ทำให้ปลามีชีวิตอยู่ได้นานกว่าปกติ



รูปร่าง
ปลาแรดเป็นปลาในตระกูลเดียวกับปลาหมอไทย ปลาหมอตาล ปลากริม ปลากัด ปลากระดี่นาง ปลากระดี่หม้อ ปลาสลิด ซึ่งปลาในครอบครัวนี้มีลักษณะเด่นคือ เป็นปลาที่ค่อนข้างอดทน มีลำตัวสั้นป้อมและแบนข้าง หัวค่อนข้างเล็ก ปากเล็กเฉียงขึ้นยืดหดได้ ฟันแข็งแรง เกล็ดใหญ่ ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนหรือค่อนข้างเทา ครีบหลังครีบก้นยาวมาก สีตอนบนของลำตัวค่อนข้างเป็นสีน้ำตาลปนดำ ตอนล่างมีสีเงินแกมเหลือง ส่วนจุดที่โคนหางจะเลือนหายไป

Tuesday 5 July 2011

สาเหตุของการเกิดตะไคร่ในตู้ปลา

สาเหตุของการเกิดตะไคร่น้ำหลากหลายสายพันธุ์นั้นมีมากมายกลายสาเหตุ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งหลายของเรา เช่น การเปลี่ยนแปลงไปของสัดส่วนของสารอาหารในตู้หรือแม้กระทั่งการค่อยๆลดลงของความเข้มข้นของแสงเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้นจะขอกล่าวถึงสาเหตุเพียงส่วนหนึ่งที่ได้รับจากคลังข้อมูลต่างๆ สาเหตุต่างๆ ที่นำไปสู่การเกิดตะไคร่น้ำก็คือ

1. ตู้ที่เพิ่งจัดเสร็จ และขาดประสบการณ์ในการควบคุมปัจจัยต่างๆ
คุณภาพและการดูแลน้ำช่วงที่ระบบแบคทีเรียยังไม่แข็งแรง และอีกมายมายสารพัด ปัญหานี้ถือเป็นประตูด่านแรกของการเลี้ยงพรรณไม้น้ำ ผู้เลี้ยงปลาหลายๆราย พอเจอตะไคร่รุมเร้ามากๆเข้าก็ถอดใจ ลองใช้ช่วงเวลาที่บังเอิญเกิดตะใคร่นั้น เฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงก็จะได้ความรู้ความเข้าใจมากทีเดียว เรียกว่าผิดเป็นครูไงคะ

สาเหตุการเกิดตะไคร่น้ำในตู้ปลา
2. ความเข้มของแสงและพันธุ์ไม้ที่นำมาเลี้ยง

3. การให้สารอาหารมากหรือน้อยเกินไป แร่ธาตุบางตัวถ้าให้มากเกินไป มีผลเร่งการเจริญเติบโตของตะไคร่ เช่น ธาตุเหล็ก

4. การให้อาหารปลาที่มากเกินไป
อาจกล่าวได้ว่าปริมาณปลาที่เลี้ยงไว้ในตู้ ต้นไม้สัมพันธ์โดยตรงกับความสมบูรณ์ของต้นไม้ การได้มาซึ่งไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในตู้พรรณไม้น้ำจึงได้จากอาหารปลาเป็นหลัก ดังนั้นนอกจากปริมาณของอาหารปลาที่ให้แล้ว ชนิดหรือยี่ห้อของอาหารปลาก็เป็นสิ่งที่ควรต้องพิจารณาในการเลือกซื้อให้เหมาะกับตู้ของเราเช่นกัน

5. การขาดการดูแลเปลี่ยนถ่ายน้ำ
เมื่อใดก็ตามที่ตู้ขาดการดูแลเปลี่ยนถ่ายน้ำเกิน 2 สัปดาห์ขึ้นไปปัญหาเรื่องตะไคร่น้ำจะเริ่มเห็นชัดขึ้นมากเรื่อยๆ ทั้งนี้เพราะเวลาผ่านไปมากขึ้น ในขณะที่สารบางตัวยังเหลือใช้อยู่ ดังนั้นสัดส่วนของสารอาหารก็จะผิดเพี้ยนไป การเปลี่ยนถ่ายน้ำจึงเสมือนการบาลานซ์สัดส่วนของสารอาหารต่างๆใหม่

6. ขาดตัวควบคุมปริมาณตะไคร่ที่เหมาะสม
ตัวควบคุมตะไคร่ที่ได้รับการยอมรับ ในแวดวงผู้เลี้ยงไม้น้ำได้แก่ กุ้งยามาโตะ, ปลาเล็บมือนาง, ปลาซัคเกอร์แคระ (Octosyncus) สิ่งมีชีวิตเหล่านี้จำเป็นต้องมีในตู้ไม้น้ำเพื่อเป็นตัวควบคุมไม่ให้การเกิดแพร่กระจายของตะไค่ร่ขึ้นได้ง่าย

7. ระบบแบคทีเรียสูญเสีย หรือเสียหายไปเป็นจำนวนมาก
ในช่วงการล้างตู้ โดยเฉพาะถ้าเราใช้น้ำประปาล้างตู้ ก็เท่ากับว่าเราเซ็ดตู้ใหม่ เริ่มใหม่ ซึ่งเสี่ยงกับการเกิดตะไคร่อีกเช่นเคย

8. ปลาที่ตายและไม่ได้เก็บออก
โดยเฉพาะเมื่อปลาที่ตายนั้นมีขนาดใหญ่ ควรรีบเอาออกโดยด่วน

Sunday 3 July 2011

ปลาตะเพียนหน้าแดง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Puntius denisonii

ชื่อสามัญ : Red Line Puntius
ปลาตะเพียนหน้าแดง (Line Puntius)

เป็นปลาน้ำจืดกึ่งเขตร้อน มีถิ่นอาศัยอยู่ในแม่น้ำและลำธารน้ำไหล ปลาชนิดนี้เป็นปลาที่เพิ่งนำมาเลี้ยงเป็นงานอดิเรกได้ไม่นาน ปลาตะเพียนหน้าแดงเป็นปลาที่อยู่รวมกันเป็นฝูง ค่อนข้างสงบ ปลาชนิดนี้เป็นปลาที่จะต้องนำเข้ามาจากประเทศอินเดีย

ลักษณะทั่วไป ปลาตะเพียนหน้าแดง
ปลาตะเพียนหน้าแดงเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ทนต่อสภาพน้ำต่างๆได้ ลักษณะภายนอกของปลาชนิดนี้คือ ลำตัวคล้ายกับปลาตะเพียน แต่จะออกทรงยาวคล้ายซิวหางกรรไกร มีขีดสีดำตามยาวของลำตัวตั้งแต่ปากผ่านตาไปจนถึงโคนหาง จุดเด่นของมันก็คือ มีขีดสีแดงขนาดใหญ่อยู่เหนือเส้นสีดำ โดยขีดสีแดงนี้ เริ่มตั้งแต่ปากไปจนถึงกลางลำตัวเป็นสีแดงสดชัดเจนมาก และกระโดงของมันยังมีสีแดงอีกด้วย ลำตัวของมันจะออกสีเงินๆ ส่วนปลายหางจะมีแถบสีเหลืองและดำอยู่ตรงปลาย ทำให้ดูลายสวยงามไปอีกอย่างหนึ่ง เพราะว่ามีสีสันสดดูน่ามอง

ปลาตะเพียนหน้าแดง



ปลาชนิดนี้มี 2 สายพันธุ์ซึ่งคล้ายกันโดยจะเรียกชื่อต่างกันคือ ปลาชนิดที่มีหัวสีแดงและนำเข้ามาตั้งแต่แรก เรียกว่า Red Nose และปลาชนิดหลังที่เพิ่งมีการนำเข้ามามากโดยมีพื้นที่มีแดงมากกว่านั้น เรียกว่า Red Line ปลาทั้ง 2 สายพันธุ์นี้ สามารถเลี้ยงได้ในน้ำที่มี pH กลางๆ และเนื่องจากเป็นปลาที่ไม่ทำลายหรือกินต้นไม้น้ำ จึงเหมาะแก่การเลี้ยงในตู้พรรณไม้น้ำ ซึ่งจะเป็นการตัดกันของสีที่เหมาะสมมาก ระหว่างสีแดงของปลาและฉากหลังสีเขียวของต้นไม้น้ำ ทำให้ปลาดูโดดเด่นเวลาว่ายน้ำเป็นฝูง

แม้ว่าปลาชนิดนี้มีแนวโน้มที่จะมีขนาดใหญ่ แต่เนื่องจากอัตราการเจริญเติบโตนั้นไม่เร็วมากนัก หากควบคุมปริมาณการให้อาหาร แล้วมีความเป็นไปได้สูงที่ปลาจะคงขนาดเล็กได้เป็นระยะเวลานาน โดยหากเลี้ยงไว้ประมาณ 5-10 ตัว เมื่อมันว่ายน้ำเป็นกลุ่มเป็นฝูงแล้ว จะเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของปลาชนิดนี้ ซึ่งอยากให้ทุกท่านได้ชื่นชมความสวยงามของปลาชนิดนี้เป็นอย่างยิ่ง

Friday 1 July 2011

ปลาทรงเครื่อง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Epalzeorhynchos bicolor

ชื่อไทย : ปลาทรงเครื่อง ปลาฉลามหางแดง ปลากาสี
ชื่อสามัญ : Red-Tailed Shark

ลักษณะรูปร่าง
ปลาทรงเครื่อมีลำตัวเพรียว ลำตัวเรียวยาว แบนข้าง หัวเล็ก ปากเล็ก มีหนวด 2 คู่ เกล็ดมีขนาดเล็ก ลำตัวสีคล้ำ ท้องสีจาง ครีบทุกครีบมีสีดำ ยกเว้นครีบหางมีสีแดง กินตะไคร้น้ำและอินทรีย์สารตามหินหรือไม้ใต้น้ำเป็นอาหาร ชอบอยู่อาศัยเป็นกลุ่มเล็กๆ พบได้ในแม่น้ำสายใหญ่ๆ ที่มีกรวด หิน พรรณไม้น้ำใกล้ชายฝั่ง เมื่อโตเต็มที่จะมีความยาวประมาณ 15-20 ซ.ม
ปลาทรงเครื่อง เป็นปลาแม่น้ำ ชอบอยู่ในน้ำที่ไหลเอื่อยไม่อยู่นิ่ง การจัดตู้จึงควรใช้ระบบกรองที่อาศัยปั๊มน้ำเป็นตัวผลักดันทำให้เกิดกระแสน้ำ ภายในตู้ เช่น กรองนอกตู้หรือกรองข้างตู้ เป็นต้น แต่หากใช้กรองพื้นฐานที่อาศัยปั๊มลมก็ควรเพิ่มปั๊มน้ำเล็กๆ สักตัว ติดตั้งไว้ที่ตู้ข้างหนึ่ง จะช่วยให้ปลาอยู่อย่างสบาย ใกล้เคียงความเป็นธรรมชาติของมันมากยิ่งขึ้น

ปลาทรงเครื่อง
ตู้ที่ใช้เลี้ยงปลาทรงเครื่องควรปู พื้นด้วยกรวดแม่น้ำ ประดับตกแต่งด้วยขอนไม้ พืชน้ำและหินก้อนทั้งเล็กและใหญ่จัดวางเป็นซอกหลืบให้ปลาได้ใช้เป็นบ้าน ปลาที่สามารถเลี้ยงร่วมกับปลาทรงเครื่องได้ ควรเป็นปลาที่มีขนาดใกล้เคียงกันหรือใหญ่กว่า ปราดเปรียว ว่ายน้ำคล่องแคล่ว และไม่ควรเป็นปลาในกลุ่มเดียวกันที่มีลักษณะรูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกัน โดยมากมักนิยมเลี้ยงรวมกับปลาตะเพียน ปลาหมู ปลาบาร์บสายพันธุ์ต่างๆ ปลาหมอสีบางชนิดก็สามารถเลี้ยงได้ เช่น ปลาหมอจากทะเลสาบมาลาวี (ที่ไม่ใหญ่เกินไปนัก)

ไม่ควรเลี้ยงปลาทรงเครื่องรวมกันเองในตู้ที่ ไม่ใหญ่เพียงพอ เพราะจะมีการวางมวยตลอดเวลา เป็นที่น่ารำคาญตาอย่างที่สุด

อาหาร : กินแมลง ลูกน้ำ ลูกไร ซากพืชและสัตว์ที่เน่าเปื่อย

ถิ่นอาศัย : พบในแม่น้ำสายใหญ่ๆ ในภาคกลางของประเทศไทย นับตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยา จากอยุธยาจนจรดปากน้ำ ในบึงบอระเพ็ดและแม่น้ำแม่กลองที่ราชบุรี กาญจนบุรี ชาวบ้านเรียก ปลากาสี

ประโยชน์ : นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม